นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Texas at Austin ในรัฐเท็กซัส สหรัฐฯ คิดค้นระบบ AI ที่คล้ายกับ ChatGPT ที่สามารถอ่านใจมนุษย์และแปลงออกมาเป็นคำพูดได้


เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Texas at Austin ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานวิจัยเกี่ยวกับการสำรวจการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อแปลงความคิดของมนุษย์ให้ออกมาเป็นคำพูดโดยไม่ล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายแบบเรียลไทม์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature Neuroscience

นักวิจัยระบุว่า ในปัจจุบันวิธีที่ใช้ในการถอดความคิดของมนุษย์ออกมาเป็นคำพูดมีการรุกล้ำร่างกาย กล่าวคือจำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องมือ หรือมีข้อจำกัด เนื่องจากวิธีเหล่านี้ “สามารถตรวจหาสิ่งเร้าได้จากเพียงกลุ่มคำหรือวลีเล็ก ๆ เพียงเท่านั้น” กระนั้นก็ดี นักวิจัยได้หลีกเลี่ยงอุปสรรคเหล่านี้ด้วยการฝึกโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network) ให้แปลงสัญญาณการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กในเชิงฟังก์ชัน (Functional Magnetic Resonance Imaging: fMRI) จากบริเวณต่าง ๆ ในสมองมนุษย์พร้อมกัน

ในการทดลองดังกล่าว นักวิจัยได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสมองของผู้เข้าร่วมทดลองโดยใช้เครื่อง fMRI ในขณะที่พวกเขากำลังฟังพอดแคสต์อยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง และนำข้อมูลที่ได้ไปฝึกระบบ AI ตามรูปแบบความคิดของผู้เข้าร่วมทดลองแต่ละราย เมื่อสิ้นสุดการฝึกระบบ AI นักวิจัยก็ได้ตรวจสอบการทำงานของสมองของผู้เข้าร่วมทดลองอีกครั้งขณะที่พวกเขากำลังฟังพอดแคสต์ ดูหนังสั้น หรือจินตนาการถึงการเล่าเรื่องอย่างเงียบ ๆ และในระหว่างนี้ ระบบ AI จะถูกป้อนข้อมูล fMRI ของผู้เข้าร่วมทดลองเข้าไปและแปลงสัญญาณออกมาเป็นภาษาที่เรียบง่ายแบบเรียลไทม์

โดยนักวิจัยพบว่า ระบบ AI สามารถแปลงสัญญาณเป็นภาษาที่เรียบง่ายได้ถูกต้องราว 50% อย่างไรก็ตาม พวกเขากล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ได้ไม่มีความแม่นยำ เนื่องจากระบบ AI ดังกล่าวถูกออกแบบมาให้ถ่ายทอดความคิดทั่วไปที่มนุษย์กำลังคิดอยู่ ไม่ใช่คำพูดเดียวกับที่มนุษย์กำลังคิดอยู่

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลของใครหลายคนที่เชื่อว่า AI อาจเข้ามาแทรกแซงความคิดของมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยพวกเขาระบุอย่างชัดเจนว่า AI ดังกล่าวยังไม่สามารถแทรกแซงความคิดของมนุษย์ได้ในขณะนี้ เนื่องจากระบบดังกล่าวจะทำงานก็ต่อเมื่อได้รับการฝึกโดยใช้คลื่นสมองของผู้ใช้เฉพาะรายเท่านั้น ซึ่งการแทรกแซงความคิดของบุคคลที่ไม่ได้ให้ข้อมูล fMRI ของตนแก่ระบบเป็นเวลาหลายชั่วโมงเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์

ในทำนองเดียวกัน เมื่อไม่นานนี้มีรายงานว่า นักวิจัยจากประเทศซาอุดีอาระเบียก็ได้พัฒนาวิธีการปรับปรุงความแม่นยำในการตรวจหาเนื้องอกในสมองโดยการประมวลผลการสแกนการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ผ่านโครงข่ายประสาทเทียมบนบล็อกเชน ซึ่ง AI ที่นำมาใช้ในงานวิจัยดังกล่าวถูกฝึกบนหน่วยประมวลผลกราฟิกส์ (Graphics Processing Unit: GPU) รุ่น NVIDIA GTX 1080 ที่ถูกวางขายตั้งแต่ปี 2016

หากจะว่ากันตามตรง หากนำงานวิจัยทั้งสองมารวมกัน อาจก่อให้เกิดระบบ AI ที่สามารถอ่านใจมนุษย์และบันทึกความคิดของมนุษย์ลงบนบล็อกเชนได้ นอกจากนี้ เราอาจมีสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) ที่สร้างขึ้นโดยใช้ความคิดของตัวเราเองได้ด้วย ซึ่งไม่แน่ว่า เทคโนโลยีดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเขียนโฆษณาและการจดสิทธิบัตรด้วยเช่นกัน โดยบล็อกเชนอาจจะทำหน้าที่เป็นหลักฐานในการบันทึกว่า ความคิดหรือไอเดียนั้น ๆ เกิดขึ้นเมื่อใด


ผู้เขียน สุวิชา หรุ่งเป้า

บรรณาธิการ เขมชาติ เจิมทอง


เผยแพร่เมื่อ : 2023-05-02 17:17:00

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้