บรรดาธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่กลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากแรงกดดันด้านราคาเกิดขึ้นยาวนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
สำนักข่าว Reuter รายงานว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา เหล่าธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ได้กลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากแรงกดดันด้านราคายังเหนียวแน่นกว่าที่ตลาดและผู้กำหนดนโยบายหลายคนได้คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งในเดือนดังกล่าวมีการขึ้นดอกเบี้ย 6 ครั้งจากการประชุมทั้งหมด 6 ครั้งของเหล่าธนาคารกลางที่ดูแลสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุด 10 สกุล
โดยผู้กำหนดนโยบายของออสเตรเลีย สวีเดน นิวซีแลนด์ และอังกฤษได้ร่วมกับธนาคารกลางสหรัฐ (U.S. Federal Reserve: Fed) และธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สำคัญรวมทั้งหมด 2.5% ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารกลางเหล่านี้ยังคาดว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนหน้า ซึ่งสวนทางกับเดือนมกราคมที่มีเพียงแคนาดากลางแคนาดาเท่านั้นที่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% จากการประชุม 3 ครั้งของธนาคารกลางในกลุ่ม G10 ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าของโลก 11 ประเทศ
ในขณะเดียวกัน Nikolaos Panigirtzoglou กรรมการผู้จัดการของบริษัทผู้ให้บริการด้านการเงินระดับโลกอย่าง JPMorgan กล่าวว่า “การรวมตัวของการขยายตัวที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้กับดัชนีเงินเฟ้อที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของบทวิเคราะห์ตลาดในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากการชะลอเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย (Soft Landing) ไปสู่วงจรการขึ้นดอกเบี้ยที่ยาวนานขึ้นของธนาคารกลางยักษ์ใหญ่”
การแผยแพร่ข้อมูลเงินเฟ้อและข้อมูลแรงงานล่าสุดจากประเทศเศรษฐกิจระดับแนวหน้าของโลกบางประเทศนั้นได้สร้างความแปลกใจให้กับตลาด และทำให้นักวิเคราะห์ยกระดับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของ Fed และ ECB ซึ่งขณะนี้ ตลาดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของ ECB จะสูงสุดที่เหนือระดับ 4% ในช่วงต้นปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ Fed จะสูงถึง 5.5-5.75%
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศตลาดเกิดใหม่ดูเหมือนจะเริ่มชะลอตัวลงแล้ว โดยธนาคารกลางทั้งหมด 13 แห่งจาก 18 แห่งในกลุ่มตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนาของ Reuters ได้มีการหารือกันเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทว่ามีธนาคารกลางเพียง 4 แห่งที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 1.75% ได้แก่ เม็กซิโก อิสราเอล ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ขณะที่ตุรกีได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์นั้นเกิดขึ้นหลังจากเดือนมกราคมที่มีธนาคารกลางทั้ง 6 แห่งจาก 18 แห่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 2.25% ในทางกลับกัน ธนาคารกลางอีก 6 แห่งของกลุ่มธนาคารดังกล่าวได้ตัดสินใจที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม โดย Gabriel Sterne นักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford Economics บริษัทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจอิสระชั้นนำของโลก กล่าวว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นกะทันหันของภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับทุกคน แต่มันอาจหายไปในอัตราที่ต่างกัน” นอกจากนี้ Sterne ยังกล่าวว่า “ขณะนี้แนวโน้มการชะลอตัวของเงินเฟ้อกำลังไปได้สวยอย่างน่าแปลกใจในเอเชีย ตัวอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อของภาคบริการได้หักมุมไปแล้ว”
ผู้เขียน ธีราภรณ์ สินธุสิงห์
บรรณาธิการ เขมชาติ เจิมทอง