ดัชนี PMI ของจีนพุ่งขึ้นเร็วที่สุดในรอบกว่า 10 ปี หลังยกเลิกมาตรการโควิด19 ในขณะที่ สหรัฐและยุโรปยังคงเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อที่ยังคุมไม่อยู่


เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2023 ที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ในภาคการผลิตของจีนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2023 โดยตัวเลขที่ออกมาคือ 52.6 เพิ่มขึ้นจาก 50.1 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการเติบโตขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบนานกว่า 10 ปี ในขณะที่ข้อมูลสำรวจในภาคเอกชนเผยให้เห็นถึงการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน 

โดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีน Duncan Wrigley จาก Pantheon Macroeconomics บริษัทผู้ให้บริการด้านการวิจัยและคำปรึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาค กล่าวว่า “ดัชนี PMI ของจีนสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยได้การสนับสนุนจากการเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากยกเลิกมาตรการโควิด และการกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งหลังวันตรุษจีน” และเจ้าตัวยังกล่าวอีกว่า “นี่เป็นชุดข้อมูลที่ให้ความหวัง แต่การเติบโตดังกล่าวยังเกิดขึ้นเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้นและความท้าทายก็ยังคงมีอยู่” 

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจีนจะสามารถกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกผ่านความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ในท้ายที่สุดการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจีนจะส่งผลต่อราคาพลังงานประเทศอื่นได้มากแค่ไหนอย่างไร เนื่องจากผลกระทบด้านเงินเฟ้อจากความต้องการด้านพลังงานที่สูงขึ้นอาจถูกชดเชยด้วยอุปทานสินค้าที่เพิ่มขึ้นสู่เศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกายังมีอัตราเงินเฟ้อที่ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ การผลิตได้หดตัวลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน แต่ก็มีสัญญาณว่า การผลิตของโรงงานเริ่มมีความมั่นคงมากขึ้น โดยมียอดคำสั่งซื้อใหม่จำนวนหนึ่งที่เพิ่มกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง สถาบันจัดการอุปทาน (The Institute for Supply Management: ISM) กล่าวว่า PMI ภาคการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 47.7 จาก 47.4 ในเดือนมกราคม ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ผู้ตอบแบบสำรวจของ Reuters คาดว่า ดัชนี PMI จะเพิ่มขึ้นเป็น 48.0 ซึ่งค่าที่ต่ำกว่า 50 จะบ่งบอกถึงการหดตัวของภาคการผลิต คิดเป็น 11.3% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ดี แม้อุปสงค์จะลดลงและอุปทานจะสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มมากขึ้นและยังอาจอยู่ในระดับสูงต่อไปอีก โดยราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตพุ่งสูงขึ้นมากในเดือนมกราคม จากการสำรวจของ ISM พบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีราคาที่ผู้ผลิตจ่ายนั้นเพิ่มกลับขึ้นมาสู่ระดับ 51.3 จาก 44.5 ในเดือนมกราคม โดย Andrew Hunter รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จาก Capital Economics บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกทางเศรษฐกิจกล่าวว่า "การดีดตัวกลับขึ้นอย่างรวดเร็วของดัชนีราคาที่จ่าย...เป็นข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้นในระดับที่ส่งสัญญาณว่า ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆ นี้กำลังสร้างแรงกดดันขาขึ้นใหม่ให้กับอัตราเงินเฟ้อ"

ทางด้านยุโรป ข้อมูลของเยอรมนีเผยให้เห็นว่า การเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อยังมีหนทางที่ต้องดำเนินต่อไป โดยราคาสินค้าและบริการในประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอย่างเยอรมนีในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่า ราคาจะพุ่งขึ้น 9.0% และสูงกว่าตัวเลขในเดือนมกราคมที่ 9.2% อีกทั้งราคาสินค้าและบริการในฝรั่งเศสและสเปนยังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการท้าทายมุมมองที่ว่า อัตราเงินเฟ้อในยุโรปนั้นได้เลยจุดสูงสุดไปแล้ว


ผู้เขียน ธีราภรณ์ สินธุสิงห์

บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล 


เผยแพร่เมื่อ : 2023-03-02 15:12:57

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้