ศิลปินดิจิทัลรู้ไหมว่า เราสามารถหางานจากผลงานศิลปะของเราโดยใช้ NFT ได้ แต่การหาเงินจาก NFT นั้นจะต้องทำอย่างไร บทความนี้จะชวนคุณมาร่วมหาคำตอบกัน


สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) มอบตัวเลือกใหม่ในการขายและเผยแพร่งานศิลปะดิจิทัล ซึ่ง NFT มีประสิทธิภาพในการเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ให้กับศิลปินในยุคดิจิทัล ดังนั้น หากคุณคือหนึ่งในศิลปินดิจิทัล ก็อย่าพลาดบทความนี้ เพราะเราจะพาคุณไปรู้จัก 5 วิธีในการสร้างรายได้จากงานศิลปะดิจิทัลของคุณด้วย NFT 

เริ่มต้นด้วยวิธีที่ 1 การมอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแบบแยกส่วน วิธีดังกล่าวคือการแยกสิทธิ์ในการครอบครองงานศิลปะออกเป็นส่วนย่อย ๆ และขายสิทธิ์เหล่านั้นในรูปแบบโทเคน ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อหลายรายสามารถเป็นเจ้าของผลงานศิลปะหนึ่งชิ้นได้ เช่น ศิลปินคนหนึ่งสร้างโทเคน 100 ชิ้นต่องานศิลปะ 1 ชิ้น และขายให้กับผู้ซื้อ 100 ราย ซึ่งผู้ซื้อแต่ละคนก็จะมีสิทธิ์ส่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของงานศิลปะชิ้นดังกล่าว

วิธีที่ 2 การออก NFT แบบไดนามิก ซึ่งเป็น NFT ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอยู่เรื่อย ๆ เช่น NFT ที่ชื่อว่า “The Eternal Pump” จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามความผันผวนของตลาดคริปโต โดยนักสะสมสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของงานศิลปะเมื่อเวลาผ่านไป ด้วยเหตุนี้ NFT แบบไดนามิกจึงสามารถยกระดับการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ของผู้สะสมได้ นอกจากนี้ NFT ประเภทนี้ยังอาจถูกประมูลในราคาสูงได้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ศิลปินยังสามารถสร้างรายได้จาก NFT แบบดังกล่าวด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมการครองครองผลงานศิลปินจากนักสะสมผ่านระบบการสมัครสมาชิกได้อีกด้วย

วิธีที่ 3 การเก็บค่าลิขสิทธิ์ NFT สามารถออกแบบให้จ่ายเงินส่วนหนึ่งให้กับศิลปินเจ้าของผลงานโดยอัตโนมัติได้เมื่อ NFT ดังกล่าวถูกนำไปขายต่อในตลาดรอง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศิลปินยังคงได้กำไรจากผลงานของพวกเขาอยู่แม้การขายครั้งแรกจะผ่านไปแล้ว เช่น Pak ซึ่งเป็นศิลปินดิจิทัล ได้ขาย NFT ชื่อ "The Fungible" ในราคา 502,000 เหรียญสหรัฐในครั้งแรก จากนั้น NFT ดังกล่าวก็ถูกนำไปขายต่อหลายครั้ง โดย NFT ดังกล่าวจะถูกตั้งค่าให้จ่ายค่าลิขสิทธิ์สำหรับการขายครั้งต่อไปทุกครั้ง 10% ให้กับศิลปิน ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ Pak ได้รับค่าลิขสิทธิ์มากกว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐนับตั้งแต่ที่เขาขาย NFT ชิ้นดังกล่าวเป็นครั้งแรก

มาต่อกันที่วิธีที่ 4 การรวม NFT เข้าไปในเกม วิธีนี้เป็นการสร้าง NFT แบบมีปฏิสัมพันธ์ที่ผู้ใช้สามารถนำไปเล่นหรือใช้ในเกมได้ ตัวอย่างเช่น เกม Axie Infinity เป็นเกมที่ใช้ NFT เป็นของมีค่าในเกม โดยผู้เล่นสามารถซื้อ ขาย และแลกเปลี่ยน NFT เพื่อสร้างตัวละครในเกมได้ นอกจากนี้ NFT ยังสามารถนำไปใช้ในมอบเป็นรางวัลให้กับผู้ที่บรรลุเป้าหมายหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในเกมหรือในแอปพลิเคชันได้ด้วย ตัวอย่างเช่น แอปฟิตเนสจะมอบ NFT ให้กับผู้ใช้ที่ออกกำลังกายได้ถึงเป้าหมายในแต่ละวัน

และสุดท้ายก็คือ การผูก NFT ไว้กับสินทรัพย์ที่จับต้องได้ โดยการสร้างรายได้จาก NFT ด้วยวิธีนี้จะเกี่ยวข้องกับการนำวัตถุที่จับต้องได้ไปผูกไว้กับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะโดยมักจะใช้ชื่อหรือโค้ดเฉพาะเข้ามาช่วย ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบความถูกต้องและความเป็นเจ้าของในวัตถุที่จับต้องได้ อีกทั้งยังสามารถส่งต่อความเป็นเจ้าของและมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ตัวอย่างเช่น CarForce ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์ กำลังพัฒนา NFT ที่จะแสดงถึงความเป็นเจ้าของในรถยนต์ระดับหรูได้ โดย NFT ดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่เหมือนกุญแจรถยนต์ดิจิทัลที่อนุญาตให้เจ้าของเข้าถึงและใช้งานรถยนต์ในโลกจริงได้


ผู้เขียน ธีราภรณ์ สินธุสิงห์

บรรณาธิการ เขมชาติ เจิมทอง




เผยแพร่เมื่อ : 2023-02-21 14:19:15

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้