วงการการเงินกระจายศูนย์ต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถอยู่รอดในอุตสาหกรรมคริปโตได้ หลังแพลตฟอร์มรวมศูนย์ FTX ล้มละลาย? มาร่วมหาคำตอบกัน



คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเงินแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Finance: DeFi) มีความโดดเด่นในด้านความเร็ว, ความเป็นอิสระ และความโปร่งใสที่สถาบันการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคารก็เทียบไม่ได้ ถึงกระนั้น นับตั้งแต่ข่าวการล้มละลายของบริษัทซื้อขายคริปโตชื่อดังอย่าง FTX ก็เห็นได้ชัดว่า เหล่าผู้เล่นในอุตสาหกรรมคริปโตไม่ได้นำประโยชน์ที่แท้จริงของ DeFi มาใช้แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถปฏิวัติวงการการเงินได้ก็ตาม

DeFi และบล็อกเชนต้องการกรณีการใช้งานในโลกความเป็นจริงถึงจะสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนได้ หากไม่มีคุณค่าที่เหนือกว่าความเชื่อที่ว่า “กราฟจะพุ่งขึ้น” ก็เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ศักยภาพที่มีอยู่ในนวัตกรรมของ DeFi  ในขณะเดียวกัน บล็อกเชนก็จะเป็นเพียงแค่กลไกหนึ่งสำหรับสำหรับทุนนิยมคาสิโน (Casino Capitalism) ที่คิดถึงผลกำไรเป็นหลักเท่านั้น ดังนั้น DeFi จำเป็นต้องมีกรณีการใช้งานจริงเพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว ซึ่งการจะทำให้เกิดกรณีการใช้งานจริงนั้น วงการ DeFi จะต้องอาศัยแนวทางจากภาคการธนาคารแบบดั้งเดิมมาใช้ด้วย

โดยปกติแล้ว ธนาคารเป็นสื่อกลางในการให้กู้ยืมเงินต่าง ๆ ซึ่งเงินเหล่านี้ได้มาจากผู้ฝากเงินที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกจริง หากไม่ใช่เพราะธนาคารมีความเชื่อมโยงพื้นฐานกับผู้คนและบริษัทที่สร้างมูลค่าซึ่งมีบทบาทต่อการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ระบบการให้กู้ยืมของธนาคารก็จะไม่สามารถคงอยู่ได้ 

ในปัจจุบันยังไม่มีการนำคริปโตและเงินกู้บนบล็อกเชนไปใช้ในระบบเศรษฐกิจจริง อีกทั้งคุณค่าพื้นฐานของคริปโตก็ยังไม่ยั่งยืนและคล้ายกับแชร์ลูกโซ่อีกด้วย โดยความเชื่อที่ว่า “กราฟจะพุ่งขึ้น” ไม่ใช่กลยุทธ์ทางการเงินที่ฉลาด เนื่องจากสิ่งเดียวที่สนับสนุนความเชื่อนี้คือ ความคาดหวังของการเติบโตแบบทวีคูณ นอกจากนี้ แม้ว่านักลงทุนบางรายจะมองว่า การใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นในวงการจะนำไปสู่กรณีการใช้งานจริงได้ แต่จริง ๆ แล้ว DeFi จะสามารถสร้างมูลค่าในระยะยาวได้ก็ต่อเมื่อคนและเงินจากระบบเศรษฐกิจ “ที่แท้จริง” ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมเท่านั้น

แม้จะบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่า จะสร้างกรณีการใช้งานในโลกจริงของ DeFi ได้อย่างไร แต่ขั้นตอนแรกที่จำเป็นเลยคือ การเปลี่ยนวิธีประเมินความเสี่ยงของ DeFi เนื่องจาก DeFi ได้ชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทางการเงิน ด้วยเหตุนี้ DeFi จึงต้องสร้างกลไกการประเมินความเสี่ยงแบบยุติธรรม ตัวอย่างเช่น การเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Finance: TradFi) ใช้เส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield Curve) เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านระบบในตลาดตราสารหนี้ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งถ้าหากวงการ DeFi นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้บ้างก็จะช่วยประเมินความเสี่ยงของโพรโทคอล DeFi ได้ นอกจากนี้ การใช้เครื่องมือจัดอันดับความน่าเชื่อถือของเงินกู้บนบล็อกเชนยังสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงของผู้ให้กู้ยืมและความน่าเชื่อถือของเงินกู้บนบล็อกเชนได้อีกด้วย

ถึงกระนั้น การใช้เครื่องมือเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ แต่สามารถบรรเทาความกลัวที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับความไม่เสถียรของ DeFi ได้ โดยวงการ DeFi จะต้องมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนด้วยเพื่อให้คนในวงการสามารถคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโพรโทคอล DeFi ได้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำให้การให้กู้ยืมในโลกแห่งความเป็นจริงและกรณีการใช้งานจริง


ผู้เขียน ธีราภรณ์ สินธุสิงห์

บรรณาธิการ เขมชาติ เจิมทอง


เผยแพร่เมื่อ : 2023-02-10 16:41:15

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้