ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นเดือนธันวาคมพุ่ง 4% สูงสุดในรอบ 41 ปี ส่งผลให้ตลาดเสียงแตก โดยฝ่ายหนึ่งคาด ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่อีกฝ่ายชี้ อาจไม่เกิดขึ้น


ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Consumer Price Index: CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นตามคาดที่ 4% นับตั้งแต่ 1 ปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 41 ปีนับตั้งแต่ปี 2524 เลยทีเดียว อีกทั้งยังมากกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) กำหนดเอาไว้ด้วย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนยังคงมีความหวังว่า BOJ อาจเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทางธนาคารกลางเพิ่งออกมายืนยันว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนกลับไม่เชื่อว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากยังไม่อาจบอกได้ว่า ภาคธุรกิจในญี่ปุ่นจะปรับเงินเดือนพนักงานให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่จะสามารถควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกินกรอบ 2% ได้หรือไม่

โดย Yoshiki Shinke หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน Dai-ichi Life Research Institute ระบุว่า บริษัทเหล่านี้ไม่ได้สนใจเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมากเท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น เงินเฟ้อก็อาจจะพุ่งเกินกรอบ 2% ดังกล่าวไปจนถึงช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เดือนกันยายน-พฤศจิกายน) ปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตัวยังเผยว่า เงินเดือนคือปัจจัยสำคัญ ถ้าเงินเฟ้อแตะ 2% และบริษัทปรับเงินเดือนพนักงานอย่างก้าวกระโดด BOJ ก็อาจดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ในทางกลับกัน ถ้าเงินเดือนไม่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ BOJ ก็อาจจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ด้าน Yasunari Ueno หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายวิเคราะห์ตลาด มองว่า อุปทานของสินค้าและบริการที่ลดลงกะทันหันเป็นสาเหตุของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้แต่หลังจากการเปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางในเดือนเมษายนและรองผู้ว่าการธนาคารกลางในเดือนมีนาคม


ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง

บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล


เผยแพร่เมื่อ : 2023-01-20 17:08:33

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้