ร้าน Subway จำนวน 3 สาขาในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี รับชำระค่าอาหารเป็นบิตคอยน์ผ่านเครือข่าย Lightning Network แล้วด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดจ่าย
หลังจากที่ Subway ร้านอาหารฟาสต์ฟูดรายใหญ่ของโลก เคยรับชำระค่าอาหารเป็นบิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) เป็นครั้งแรกในปี 2557 ล่าสุดทางร้านก็ได้ทดสอบการรับชำระค่าอาหารเป็นบิตคอยน์อีกครั้งในร้าน Subway จำนวน 3 แห่งในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ด้วยการใช้เครือข่าย Lightning Network (LN) ซึ่งเป็นเลเยอร์ 2 ที่เพิ่มเข้าไปบนบล็อกเชนบิตคอยน์เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของบล็อกเชนด้วยการจัดการธุรกรรมนอกบล็อกเชน ทำให้มีค่าธรรมเนียมต่ำและทำธุรกรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
Daniel Hinze เจ้าของร้าน Subway ที่รับชำระค่าอาหารเป็นบิตคอยน์ในกรุงเบอร์ลิน เปิดเผยว่า ร้านอาหารของตนมีการทำธุรกรรมบิตคอยน์มากกว่า 120 ธุรกรรมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พร้อมกับเสริมว่า ตัวเขาเริ่มใช้สกุลเงินคริปโตเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก่อนจะเริ่มจริงจังกับเรื่องบิตคอยน์เป็นพิเศษในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และเขาก็เชื่อว่า บิตคอยน์สามารถกลายเป็นระบบการเงินที่ดีกว่าระบบการเงินดั้งเดิมได้
อย่างไรก็ดี ชาวยุโรปส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้บิตคอยน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการสักเท่าไร ด้วยเหตุนี้ Hinze จึงออกส่วนลดค่าอาหาร 10% สำหรับเมนูแซนด์วิชขนาด 12 นิ้ว, มีตบอลในซอสมารินาร่า และคุกกี้ ที่ชำระเงินด้วยบิตคอยน์เพื่อส่งเสริมการใช้บิตคอยน์
นอกจากนี้ Hinze ยังเริ่มแคมเปญดังกล่าวด้วยการมอบส่วนลด 50% สำหรับทุกรายการอาหารที่ชำระเงินด้วยบิตคอยน์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ด้วย ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า “แน่นอนว่า มีความต้องการชำระค่าอาหารด้วยบิตคอยน์เป็นจำนวนมากตลอดทั้งสัปดาห์ ร้านของพวกเราทั้ง 3 ร้านมีคนที่ชอบใช้บิตคอยน์จ่ายค่าอาหารเข้ามาอยู่ตลอด”
Hinze ได้จับมือกับ Lipa บริษัทบิตคอยน์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการชำระเงินด้วยบิตคอยน์ โดย Lipa ได้จัดหาอุปกรณ์สำหรับรับชำระเงินที่ช่วยให้ลูกค้าของร้านสามารถชำระเงินผ่าน LN ได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมถูกเพียงแค่สแกนคิวอาร์โค้ด
การทดสอบในครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์การรับชำระเงินเป็นบิตคอยน์ที่แตกต่างจากประสบการณ์ครั้งแรกของ Subway ในปี 2557 เป็นอย่างมาก โดยในปีนั้น LN ยังไม่เกิดขึ้นมาและลูกค้าจะต้องใช้เวลาหลายนาทีถึงจะสามารถชำระเงินด้วยบิตคอยน์ได้ โดยจะต้องรอให้นักขุดสร้างบล็อกถัดไปขึ้นมา และรอให้โหนดบิตคอยน์ทั่วโลกยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมก่อน ซึ่งกระบวนดังกล่าวนั้นกินเวลานาน มีความยุ่งยาก แถมในบางครั้งยังมีค่าธรรมเนียมสูงอีกด้วย
ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระตุ้นให้คนหันมาใช้บิตคอยน์ในการชำระเงินนั้นมีความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากรู้กันว่า ผู้ใช้บิตคอยน์ส่วนใหญ่เป็นนักเก็งกำไรซะมากกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้บิตคอยน์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศเยอรมนีในครั้งนี้ และการใช้บิตคอยน์ในเมืองหลวงของประเทศเอลซัลวาดอร์ก่อนหน้านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เริ่มมีการใช้บิตคอยน์ในรายย่อยบ้างแล้ว
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล