กรมสรรพากรบราซิลชี้ มีบริษัทบราซิลทั้งหมด 12,053 แห่งที่ถือคริปโตในงบดุล-เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 6.1% โดยตัวเลขดังกล่าวยังถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกด้วย


สำนักข่าวในประเทศบราซิลรายงานว่า กรมสรรพากรบราซิล (Receita Federal do Brasil: RFB) ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถือสกุลเงินคริปโตของบริษัทในประเทศบราซิลประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งพบว่า มีบริษัททั้งหมด 12,053 แห่งที่กำลังถือสกุลเงินคริปโตในงบดุลของบริษัท

ข้อมูลดังกล่าวชี้ว่า จำนวนบริษัทที่ถือคริปโตในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 6.1% จากเดือนกรกฎาคมซึ่งมี 11,360 บริษัท นอกจากนี้ เดือนดังกล่าวยังมีจำนวนบริษัทที่ถือคริปโตมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมาอีกด้วย โดย RFB ระบุว่า บิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) เป็นสกุลเงินคริปโตที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่บริษัท ในขณะที่เหรียญ Stablecoin อย่าง Tether (USDT) ได้รับความนิยมรองลงมา 

ทั้งนี้ ตัวเลขนักลงทุนชาวบราซิลรายบุคคลที่ถือคริปโตกลับลดลงจากเดือนกรกฎาคม โดยเหลือเพียง 1.3 ล้านรายในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ มูลค่าสินทรัพย์คริปโตทั้งหมดของเหล่าบริษัทในเดือนสิงหาคมก็ลดลงจากเดือนกรกฎาคมเล็กน้อย โดยคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (11 พันล้านเรอัลบราซิล) ซึ่งลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่มีมูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเกิดจากสภาวะตลาดขาลงในช่วงที่ผ่านมา

สกุลเงินคริปโตที่มีมูลค่าการทำธุรกรรมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในเดือนสิงหาคมคือ USDT ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.42 พันล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยราว 17,500 ดอลลาร์ต่อธุรกรรม ส่วนสกุลเงินคริปโตที่มีมูลค่าการทำธุรกรรมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 คือ บิตคอยน์ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 270 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยราว 130 ดอลลาร์ต่อธุรกรรม

นอกจากนี้ กรมสรรพากรบราซิลยังเสริมอีกว่า มูลค่าการทำธุรกรรมของเหรียญ USD Coin (USDC) ร่วงลงจากอันดับที่ 3 ในเดือนกรกฎาคมมาอยู่อันดับที่ 5 ในเดือนสิงหาคม โดยเป็นรองจาก Ether (ETH) และเหรียญ Stablecoin ที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินเรอัลบราซิลอย่าง Brazilian Digital Token (BRZ) ซึ่งมีมูลค่าการทำธุรกรรมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

โดยในเดือนสิงหาคม บิตคอยน์มีจำนวนการทำธุรกรรมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งมีจำนวนการทำธุรกรรมทั้งหมดทะลุ 2.1 ล้านธุรกรรมเลยทีเดียว ในขณะที่ USDT มีจำนวนการทำธุรกรรมอยู่ที่เกือบ 80,000 ธุรกรรมในเดือนเดียวกันนี้


ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง

บรรณาธิการ สกรรจ์ ศิริวงษ์


เผยแพร่เมื่อ : 2022-10-10 18:13:45

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้