ชวนวิเคราะห์ แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตที่ไม่มี KYC ไม่ปลอดภัยจริงหรือ? ทำไมนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแลไว้วางใจแพลตฟอร์มที่มี KYC มากกว่า
หลายคนมองว่า การนำกระบวนการพิสูจน์ตัวตน (Know Your Customer: KYC) มาใช้บนแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตจะขัดแย้งกับมาตรฐานของบิตคอยน์ (Bitcoin: BTC) ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกรรมแบบ Peer to Peer (P2P) ที่ไม่ระบุตัวตน แต่หน่วยงานกำกับดูแลยังคงสนับสนุนการใช้ KYC อยู่เพื่อรักษาความปลอดภัยของนักลงทุน รวมถึงปกป้องนักลงทุนจากการถูกหลอกลวงด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตส่วนใหญ่จะเริ่มนำ KYC มาใช้ตามคำแนะนำของหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว แต่นักลงทุนยังสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตที่ส่งเสริมการไม่ระบุตัวตนมากกว่าด้วยการไม่ใช้กระบวนการ KYC ได้
ความปลอดภัยของผู้ใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตที่ไม่มี KYC นั้นเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจของตัวผู้ใช้เองที่มีต่อแพลตฟอร์ม โดยเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตที่ไม่มี KYC นั้นมักเลือกที่จะปกปิดตัวตนเอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจตราทางกฎหมาย ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องมีความเชื่อมั่นในเจ้าของแพลตฟอร์มเป็นอย่างสูง
ในขณะที่แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchnage: DEX) จะใช้โปรโตคอลที่ไม่มีตัวกลางซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันดูแลแพลตฟอร์มได้ ทำให้ได้รับความไว้ใจจากหมู่นักลงทุนแม้ว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะไม่มีกระบวนการ KYC เลยก็ตาม ดังนั้น การตรวจสอบประวัติการดำเนินงานของแพลตฟอร์มและผู้ดูแลแพลตฟอร์มจึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่อทำการซื้อขายสกุลเงินคริปโตบนแพลตฟอร์มประเภทนี้
นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนให้นักลงทุนใช้สกุลเงินคริปโตได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการ KYC แต่การศึกษาของ Chainalysis บริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน กลับยืนยันว่า มีเพียง 0.15% ของธุรกรรมคริปโตทั้งหมดในปี 2021 เท่านั้นที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
อีกทั้งข้อมูลบนบล็อกเชนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ยังทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามเจ้าของธุรกรรมได้ด้วย ซึ่งช่วยป้องกันคนร้ายจากการนำคริปโตบนแพลตฟอร์มที่มี KYC และแพลตฟอร์มที่ไม่มี KYC ไปใช้ในการกระทำที่ผิดกฎหมายได้
สิทธิ์ในการควบคุมสินทรัพย์นั้นก็เป็นอีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโตให้ความสำคัญ โดยการเก็บสกุลเงินคริปโตไว้บนแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตหมายความว่า นักลงทุนได้ให้สิทธิ์การควบคุมสินทรัพย์ของตนกับทางแพลตฟอร์มแล้ว ดังนั้น การใช้แพลตฟอร์มเถื่อนที่ไม่มี KYC จะทำให้นักลงทุนเสี่ยงต่อการสูญเสียสินทรัพย์อย่างถาวรได้
ไม่เพียงเท่านั้น ถึงแม้ว่าทั้งแพลตฟอร์มที่มี KYC และแพลตฟอร์มที่ไม่มี KYC ต่างก็กำหนดให้นักลงทุนมอบสินทรัพย์ให้กับบุคคลที่สามเหมือนกัน แต่แพลตฟอร์มที่มี KYC กลับได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแลมากกว่า
ทั้งนี้ ไม่ว่านักลงทุนคริปโตจะใช้แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตที่มี KYC หรือไม่มี พวกเขาต่างก็มีความเสี่ยงเท่ากันจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์ของเจ้าของแพลตฟอร์ม การทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย นอกจากนี้ การลงทุนในแพลตฟอร์มที่ไม่มี KYC ยังมาพร้อมกับข้อจำกัดด้านมูลค่าการซื้อขาย โทเคนที่มีให้ซื้อขาย และบริการอื่น ๆ จากแพลตฟอร์มด้วย
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล