Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมแล้ว หลังถูกรมต.-ส.ส.กดดันด้วยการพร้อมใจลาออก ด้านนักลงทุนเฝ้าจับตาการดำเนินนโยบายคริปโตในอังกฤษ


Wikimedia Commons | UK Prime Minister's Office

เมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม 2565) Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) แล้ว แต่จะดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐต่อไปก่อนจนกว่าจะมีหัวหน้าพรรคคนใหม่

Johnson กล่าวที่หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง (10 Downing Street) ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ว่า “ตอนนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมมีความประสงค์ชัดเจนแล้วว่าควรจะมีผู้นำพรรคและนายกรัฐมนตรีคนใหม่” ซึ่งจะมีการประกาศกำหนดการเปลี่ยนผ่านผู้ดำรงตำแหน่งในช่วงสัปดาห์หน้า

โดยก่อนหน้านี้ บรรดาสมาชิกของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของ Johnson และสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่มีรายงานว่า เขาทราบว่า อดีตรองประธานวิปของรัฐบาลอย่าง Chris Pincher ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศชายสองราย แต่ก็ยังเดินหน้าแต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูงของรัฐบาลต่อไป

นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ John Glen เลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (Economic Secretary to the Treasury) ได้ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นการโต้กลับต่อท่าทีของ Johnson ในการรับมือกับข้อกล่าวหาการล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว อีกทั้งยังมีสมาชิกรัฐสภามากกว่า 50 รายที่พร้อมใจกันประกาศลาออกก่อนที่ Johnson จะประกาศก้าวลงจากตำแหน่งด้วย

โดยตลอดสามปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของ Johnson รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลของอังกฤษได้ลงมติเห็นชอบนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสกุลเงินคริปโตอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ยังได้ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและการนำสกุลเงินดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานมาตรฐานโฆษณา (Advertising Standards Authority: ASA) ของอังกฤษได้สั่งแบนโฆษณาสกุลเงินคริปโตของบริษัทหลายแห่งโดยให้เหตุผลว่า “เป็นการใช้ประโยชน์จากการขาดประสบการณ์ของผู้บริโภคอย่างไม่รับผิดชอบ และล้มเหลวในการแจ้งเตือนความเสี่ยงจากการลงทุน”

ไม่เพียงแค่นั้น เมื่อเดือนเมษายนปีนี้เอง กระทรวงการคลังของอังกฤษยังได้ผลักดันการแก้ไขกรอบกำกับดูแลของประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางในการชำระเงินเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Stablecoin อีกด้วย โดยได้ทำงานร่วมกับองค์กร Financial Conduct Authority (FCA) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลบริษัทที่ “ดำเนินกิจกรรมด้านสินทรัพย์คริปโต”

ทั้งนี้ ไม่อาจบอกได้ว่า การเปลี่ยนผู้นำของรัฐบาลอังกฤษในครั้งนี้จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายด้านคริปโตในประเทศอย่างไร แต่มีหลายรายงานที่ระบุว่า Sunak เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะเข้ามาเสียบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนที่ Johnson ซึ่งก็อาจส่งผลให้เกณฑ์กำกับดูแลที่เป็นมิตรต่อสกุลเงินคริปโตกลายเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลอังกฤษในอนาคต เนื่องจากเขาคนนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังข้อเสนอด้านการปฏิรูปหลายข้อเสนอที่สนับสนุนการใช้สกุลเงินคริปโตในอังกฤษนั่นเอง


ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง

บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล


เผยแพร่เมื่อ : 2022-07-08 18:32:59

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้