ผู้บริหาร Monstercat และผู้ก่อตั้ง Metalink พูดถึงทิศทางของดนตรี NFT เชื่อ มีอนาคตสดใส โดยจะมอบความยั่งยืนให้กับศิลปิน-สร้างการมีส่วนร่วม แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็น NFT อีกประเภทได้
ในตอนล่าสุดของรายการ NFT Steez ซึ่งเป็นรายการที่จัดขึ้นในทุกสองสัปดาห์บน Twitter Spaces นักวิเคราะห์ของสำนักข่าว Cointelegraph ได้สัมภาษณ์ Mike Darlington ผู้บริหารแพลตฟอร์มดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Monstercat และ Jake Udell ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มชุมชน NFT อย่าง Metalink โดยทั้งคู่เห็นพ้องกันว่า อนาคตของอินเทอร์เน็ตกระจายศูนย์ Web3 และดนตรีในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท Non-Fungible Token (NFT) จะรุ่งเรือง
Darlington และ Udell กล่าวว่า ตลาดหมีเป็นช่วงเวลาที่จะออกไอเดียและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกทั้งยังอธิบายถึงความสำคัญของการศึกษาโปรเจกต์ที่มี “ทีมงานแบบยั่งยืน” ที่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์แม้จะอยู่ในช่วงตลาดหมีก็ตาม และแนะนำให้นักลงทุนเรียนรู้จากความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นในช่วงจุดสูงสุดของตลาดกระทิง
Darlington มองว่า ดนตรีในรูปแบบ NFT ยังไม่ได้กลายเป็นกระแส แต่เขาหวังว่า ดนตรีประเภทดังกล่าวจะได้รับความนิยมในตลาดกระทิงครั้งต่อไป และสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกับรูปภาพหรือศิลปะในรูปแบบ NFT
โดยเขาแนะนำให้นักสร้างที่สนใจทดลองกับดนตรีประเภทดังกล่าวถามตัวเองก่อนว่า “ทำไมถึงอยากเข้าไปเกี่ยวข้อง” โดยเขากล่าวว่า นักสร้างบางคนรู้ซึ้งแล้วว่า อุตสาหกรรมดนตรีนั้นพังขนาดไหนสำหรับศิลปิน และมองเห็นว่า ดนตรีแบบ NFT เป็นช่องทางหนึ่งที่จะมอบความยั่งยืนให้แก่พวกเขาได้มากขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ Darlington อธิบายว่า อาจบอกไม่ได้ว่า ช่องทางดังกล่าวจะมีความยั่งยืนต่อตัวศิลปินแค่ไหน แต่ความจริงที่ชัดเจนคือ นักสร้างไม่พอใจกับโมเดลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน จึงมีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ แต่ก็จะขึ้นอยู่กับรูปแบบและรูปร่างหน้าตาของดนตรีในรูปแบบ NFT ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ในขณะที่ Udell กล่าวว่า วงการ NFT นั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปีที่แล้วจนดูเหมือนกับลัทธิ มีกลุ่มต่าง ๆ ก่อตัวขึ้นโดยมีความสนใจร่วมกันคือ อินเทอร์เน็ตกระจายศูนย์ Web3 อย่างไรก็ตาม เขาไม่เชื่อว่า Web3 จะแยกเป็นประเภทได้ แต่ศิลปินก็สามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางดังกล่าวในการขยายฐานแฟนคลับได้
นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงระดับการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ของแพลตฟอร์มที่ไม่เสียเงินกับแพลตฟอร์มที่เสียเงิน โดยเขากล่าวว่า นักสร้างและผู้ใช้ที่รู้สึกว่า พวกเขาได้ลงทุนไปกับผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมและทดลองกับผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากกว่า
ไม่เพียงเท่านั้น การที่ผู้ใช้ได้ลงทุนและทดลองกับผลิตภัณฑ์ของพวกเขายังนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีพลวัตมากขึ้นระหว่างผู้ฟังและศิลปินอีกด้วย และการที่ผู้ใช้จะสนใจเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของหรือไม่ก็มีความสำคัญน้อยลงในแง่ของวัฒนธรรมและชุมชนที่เกิดขึ้นจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นที่แต่ละฝ่ายมอบให้กับผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สกรรจ์ ศิริวงษ์, สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล