สกุลเงินคริปโตจะยังเป็นสินทรัพย์หลบเงินเฟ้อและสินทรัพย์เก็บมูลค่าหรือไม่? หลังจากที่ราคาหุ้น อำนาจซื้อของดอลลาร์ ตราบจนสถานการณ์สังคมการเมืองต่างก็ส่งผลต่อการขึ้น-ลงของราคา
การลงทุนในสกุลเงินคริปโตเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจสำหรับใครหลายคน ด้วยความที่มองว่า สกุลเงินคริปโตเป็นช่องทางทำกำไรที่รวดเร็ว ส่วนบางคนลงทุนเพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีบล็อกเชนและโครงการบางโครงการ หรือบ้างก็แค่ไม่อยากตกเทรนด์เท่านั้น นอกจากนี้ สกุลเงินคริปโตยังมักจะได้รับการขนานนามให้เป็นสินทรัพย์หลบเงินเฟ้อ (Inflation Hedge) หรือสินทรัพย์เก็บมูลค่า ด้วยเหตุนี้ เราจะมาวิเคราะห์กันว่า สกุลเงินคริปโตและเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อกันอย่างไร
ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นเมื่อมูลค่าของสกุลเงินตรา (Fiat) ลดลง ทำให้ราคาสินค้าและบริการค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี สกุลเงินคริปโตต่างจากเงินตราโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสกุลเงินคริปโตไม่อาจถูกควบคุมราคาด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเงินตรา เช่น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Bitcoin (BTC) และ Ether (ETH) ดีดตัวขึ้น 3.5% และ 1.2% ตามลำดับ หลังจากมีรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve: Fed) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ถึงแม้ว่าตลาดสกุลเงินคริปโตจะมีการปรับขึ้นของราคาในระยะสั้นหลังจากที่มีข่าวประเภทดังกล่าวออกมา แต่การเพิ่มขึ้นของราคาก็ไม่อาจรักษาระดับเดิมเอาไว้ได้ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายรายยังเชื่อว่า สกุลเงินคริปโตจะปรับตัวตามหุ้นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
นอกจากนี้ ในช่วงหลังโรคระบาด COVID-19 อำนาจการซื้อบิตคอยน์ของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงในเดือนมีนาคมปี 2020 และลดลงอีกครั้งในช่วงปลายปี 2020 เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐพิมพ์ธนบัตรออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ภาวะเงินเฟ้อทำให้มูลค่าของดอลลาร์สหรัฐลดลงถึง 85% เลยทีเดียว ซึ่งตอกย้ำถึงแนวคิดการใช้ Bitcoin เป็นสินทรัพย์ทางเลือกแทนสกุลเงินตรา ถึงกระนั้น ในเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ราคาของ Bitcoin ก็เข้าสู่ช่วงขาลงหลังจากพุ่งขึ้นไปแตะที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกัน อำนาจการซื้อบิตคอยน์ของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก็เริ่มเพิ่มขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2022
จะสังเกตได้ว่า แทบทั้งปีนี้ อำนาจการซื้อบิตคอยน์ของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งได้สั่นคลอนแนวคิดของการใช้ Bitcoin เป็นสินทรัพย์หลบเงินเฟ้อ ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของตลาดและราคาของ Bitcoin ต่อหนึ่งหน่วยที่สูง ยังทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะมือใหม่ชะลอการลงทุนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ราคาของ Bitcoin มักไม่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ซึ่งอาจมีส่วนสอดคล้องกับแนวคิดความเป็นอิสระของ Bitcoin จากรัฐบาลต่าง ๆ แต่ในช่วงขาลงของตลาดตลอดสองไตรมาสที่ผ่านมา ประเด็นด้านสังคมและการเมืองกลับมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางราคาของ Bitcoin ไม่เพียงเท่านั้น ความสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่าง BTC และ 2 ดัชนีที่สำคัญในตลาดหุ้นอย่าง S&P 500 และ Nasdaq อาจยับยั้งแนวคิดของ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์หลบเงินเฟ้อเมื่อตลาดเติบโตขึ้น
ณ ปัจจุบัน ภาพรวมของตลาดยังอยู่ในช่วงตลาดหมี แต่ “Bitcoin จะสามารถอยู่เหนือสินทรัพย์ดั้งเดิมและสกุลเงินตราได้หรือไม่” ยังคงเป็นคำถามสำคัญที่เราจะต้องฉุกคิดกันต่อไป แต่นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า หลายปีที่ผ่านมา ตลาดสกุลเงินคริปโตและ Bitcoin ที่ขยายตัวขึ้นทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment: ROI) ลดลงเรื่อย ๆ
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สกรรจ์ ศิริวงษ์