ผู้บริหาร Bitso แพลตฟอร์มผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน Chivo ของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ชี้ ประชาชนถึง 40% ใช้งานกระเป๋า Chivo ต่อหลังโบนัสหมดถือเป็นความสำเร็จ
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการองค์กรและกำกับดูแล Felipe Vallejo ของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโตยักษ์ใหญ่สัญชาติเม็กซิโกอย่าง Bitso เผยว่า Chivo แอปพลิเคชันกระเป๋าเงินบิตคอยน์ของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ที่ทางบริษัทเป็นผู้ให้การสนับสนุนนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในแง่ของการใช้งานหลังจากเปิดใช้มาได้เจ็ดเดือน แม้จะประสบปัญหาทางเทคนิคและระบบล่มบ้างในช่วงแรก
Chivo เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2021 พร้อมกับที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ประกาศใช้กฎหมายอนุมัติให้บิตคอยน์มีสถานะเป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดย Bitso ได้เข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ด้านเทคโนโลยีเพื่อให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์สามารถซื้อบิตคอยน์และผู้ใช้สามารถแปลงเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้
Vallejo กล่าวว่า “Bitso ได้เสริมสภาพคล่องให้กับกระเป๋าเงิน Chivo มาโดยตลอดนับตั้งแต่เริ่มงานกับรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา” โดยเขาเผยว่า Bitso ให้บริการสำหรับผู้ใช้ในเอลซัลวาดอร์ผ่าน Chivo แพลตฟอร์มเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า “ตลอดเวลาที่เราดำเนินงานให้กับ Chivo เราได้เห็นว่า ประชากรจำนวนมากได้หันไปใช้แอปพลิเคชันเพื่อการทำธุรกรรมที่ง่ายและปลอดภัย” โดย Vallejo ได้กล่าวถึงรายงานของคณะกรรมการของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (National Bureau of Economic Research: NBER) ที่พบว่า 40% ของคนที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Chivo ยังคงใช้งานแอปพลิเคชันต่อหลังจากที่พวกเขาได้รับบิตคอยน์จูงใจมูลค่า 30 ดอลลาร์จากรัฐบาลไปแล้ว
“เราเชื่อว่า นี่เป็นสัญญาณของการใช้งานที่ค่อนข้างแข็งแรงเลยทีเดียว เมื่อการศึกษาเกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตและกรณีการใช้งานในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ผู้ใช้งานอีกมากจะยังใช้แอปพลิเคชันด้วยความเข้าใจเทคโนโลยีที่ลึกซึ้งมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างขึ้นมาด้วย” Vallejo กล่าว
นอกจากนี้ Bitso และ Chivo ยังหวังที่จะเพิ่มอัตราการใช้งานด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับสกุลเงินคริปโตและบล็อกเชนแก่ประชาชน โดย Vallejo กล่าวว่า “อุปสรรคสำคัญของการใช้สกุลเงินคริปโตทั้งในแถบลาตินอเมริกาและทั่วโลกคือความรู้ ดังนั้น ขณะที่เรากำลังเดินหน้าให้ข้อมูลและเครื่องมือแก่ชาวเอลซัลวาดอร์เพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจอย่างถ่องแท้และนำเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ไปใช้กัน เราก็หวังว่า อัตราการใช้งานจะเพิ่มมากขึ้นด้วย”
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สกรรจ์ ศิริวงษ์