หลังจาก Twitter ตอบรับข้อเสนอซื้อหุ้นของ Elon Musk แล้ว คนดังในวงการคริปโตได้ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของ Dogecoin ที่ไม่เห็นด้วย จนถึงผู้ก่อตั้ง MicroStrategy ที่ออกตัวสนับสนุน
เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างทวิตเตอร์เผยว่า คณะกรรมการบริหารของบริษัทได้มีมติเอกฉันท์ในการยอมรับข้อเสนอการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทจาก Elon Musk ประธานกรรมการบริหารของบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Tesla แล้ว โดย Musk จะเข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ด้วยเงินสดที่ราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมกันทั้งหมดราว 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะทำธุรกรรมเสร็จสิ้นภายในปีนี้ แม้จะต้องรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์และผู้กำกับดูแลรายอื่นก่อน
ก่อนหน้าที่ข่าวดังกล่าวจะออกมาไม่กี่ชั่วโมง Musk เพิ่งทวีตว่า “ผมหวังว่า แม้แต่พวกที่สาปแช่งผมจะยังเล่นทวิตเตอร์อยู่ เพราะนั่นคือสิ่งที่สื่อถึงเสรีภาพในการพูด (Free Speech) นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังได้ยกคำพูดของ Musk ที่ว่า “เสรีภาพในการพูดเป็นเสาหลักแห่งประชาธิปไตยที่มีประสิทธิผล และทวิตเตอร์ก็เป็นจัตุรัสกลางเมืองบนโลกดิจิทัล” ขึ้นมาอีกด้วย
ผลจากการเข้าซื้อกิจการของ Musk ในครั้งนี้จะทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นบริษัทเอกชนไปโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ คนดังในแวดวงต่าง ๆ จึงพุ่งประเด็นไปที่เสรีภาพในการพูดตามที่ Musk ได้กล่าวไว้ โดย Angelo Carusone ประธานองค์กรตรวจสอบสื่อไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Media Matters for America กังวลว่า การที่ทวิตเตอร์ยอมขายหุ้นบริษัท “จะกลายเป็นชัยชนะสำหรับข่าวปลอมและคนที่เผยแพร่ข่าวปลอม” โดยเขาบอกเป็นนัยว่า Musk จะมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจให้คนที่ถูกทวิตเตอร์แบนเพราะจุดฉนวนความรุนแรงสามารถกลับมาใช้แพลตฟอร์มได้อีกครั้ง
ขณะที่คนดังในแวดวงคริปโตก็เสียงแตกกันเป็นสองฝ่าย โดย Jackson Palmer ผู้ร่วมพัฒนาเหรียญมีม Dogecoin (DOGE) เรียกการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ว่า “การซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร” ซึ่งขัดกับหลักเสรีภาพ ขณะที่เจ้าพ่อบิตคอยน์อย่าง Anthony "Pomp" Pompliano กลับแสดงความยินดีกับเจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่อย่าง Musk ส่วน BlockFi บริษัทผู้ให้กู้ยืมเงินคริปโต ได้ออกมาแสดงท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวแบบติดตลกด้วยการทวีตรูปตัดต่อที่มีสุนัขของเหรียญ Dogecoin อยู่ในโลโก้ของทวิตเตอร์
นอกจากนี้ Michael Saylor ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ MicroStrategy บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการวิเคราะห์เชิงธุรกิจ ก็ได้ทวีตตอบกลับทวิตเตอร์ของ Musk ด้วยข้อความจากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งก็บอกเป็นนัยว่า ตัวเขาเห็นด้วยกับเรื่องการเข้าซื้อหุ้นของ Musk ในครั้งนี้
ไม่เพียงเท่านั้น คนดังในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ อย่าง Jody Hice สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยครหาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุด ก็ออกมาแสดงความยินดีกับการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวด้วย โดยเขาเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทำไมบรรดาผู้สนับสนุนบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ถึงได้ออกมาสนับสนุนความเคลื่อนไหวดังกล่าว เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้จำกัดจำนวนของนายจ้างเอกชนในสหรัฐฯ แต่กีดกันไม่ให้สภาคองเกรสสามารถผ่านกฎหมายที่ห้ามปรามวาจาบางประเภทได้ โดยศาลสูงสุดสหรัฐกำหนดไว้ว่า เสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้ครอบคลุมถึงการยั่วยุการกระทำอันขัดต่อหลักกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ข้อบังคับของทวิตเตอร์ก็กำหนดไว้ว่า แพลตฟอร์มไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ “ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงต่อบุคคลหรือกลุ่มคนใด ๆ” อีกด้วย
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล