ผู้เชี่ยวชาญคาด NFT ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเกาหลีใต้ เหตุไม่มีการเก็บภาษี ใช้งานได้จริง และประชาชนคุ้นเคย


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา เกาหลีใต้กลายเป็นผู้นำเทรนด์และผู้บุกเบิกด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของโลก เห็นได้จากดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2021 (Global Innovation Index 2021: GII) ที่เผยแพร่โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งเกาหลีใต้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 เลยทีเดียว 

ด้านบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Samsung และ LG รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาเกมอย่าง Krafton ก็ได้รับการยอมรับในเรื่องนวัตกรรมจากบรรดาผู้บริโภคและเกมเมอร์ทั่วโลกอีกด้วย ซึ่ง ณ ตอนนี้ บริษัทเหล่านี้ต่างก็ก้าวเข้ามาสู่แวดวง NFT ด้วยการเปิดตัวคอลเล็กชัน NFT ใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือการจัดตั้งแผนกใหม่ของบริษัทเพื่อมาพัฒนา NFT โดยเฉพาะ

ผู้เชี่ยวชาญด้าน NFT หลายรายก็ออกมาพูดถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว โดย Alex Lim ผู้นำด้านกลยุทธ์ของโครงการด้าน NFT ในเกาหลีใต้อย่าง KlayChicken กล่าวว่า “NFT กำลังบูม แต่หลายคนไม่รู้ว่าทำไม…กระแส NFT ในเกาหลีใต้เกิดจากอารมณ์หลายอย่างรวมกัน…ผมเชื่อว่า ครึ่งหลังของปีนี้ จะถึงเวลาที่ทั้งอุตสาหกรรม NFT เกาหลีใต้จะพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด”

โดยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดข้างต้นอาจเกิดจากการที่เกาหลีใต้ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้านี้ สภานิติบัญญัติของเกาหลีใต้มีมติเห็นชอบให้เลื่อนกฎหมายจัดเก็บภาษีคริปโตไปจนถึงปี 2023 ไม่เพียงเท่านั้น หลายฝ่ายยังคาดว่า ว่าที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้อย่าง Yoon Seok-yeol อาจสั่งให้เลื่อนการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไปถึงปี 2024 

ยิ่งไปกว่านั้น ณ ขณะนี้ อุตสาหกรรม NFT ในเกาหลีใต้ก็ไม่มีการกำกับดูแลที่เข้มงวดเหมือนดังอุตสาหกรรมคริปโต แม้ว่าเจ้าหน้าที่กำกับดูแลจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของเกาหลีใต้ (Financial Services Commission: FSC) กำลังดำเนินงานเพื่อเสนอเกณฑ์กำกับดูแล NFT ใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการประกาศเกณฑ์กำกับดูแลดังกล่าวออกมา ด้วยเหตุนี้เอง แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชื่อดังของเกาหลีใต้อย่าง Upbit และ Bithumb จึงพากันเปิดตัวตลาดซื้อขาย NFT กันอย่างอิสระ 

ในขณะเดียว GM Chung ประธานกรรมการบริหารของ DeSpread บริษัทผู้ให้บริการเร่งการเติบโตระบบนิเวศบล็อกเชนสัญชาติเกาหลีใต้ ก็เชื่อว่า กรณีการนำ NFT มาใช้ในทางปฏิบัติจะแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในประเทศ โดยเขากล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ ปรากฏการณ์การซื้อ NFT เกิดจากการความต้องการที่จะมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่ไม่นานมานี้ การขยายประโยชน์ใช้สอยของ NFT ถือเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่ง (ของการนำ NFT มาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น)” 

ก่อนหน้านี้ ว่าที่ประธานาธิบดี Yoon ก็ได้ออกคอลเล็กชัน NFT เพื่อดึงดูดคะแนนเสียงจากประชาชน ในขณะที่ เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัย Hoseo University ก็ได้ออกประกาศนียบัตรในรูปแบบ NFT ให้กับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งสำนักข่าวในประเทศอย่าง Money Today รายงานว่าเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยทำแบบนี้ก็เพราะว่า ประกาศนียบัตร NFT จะทำให้บัณฑิตเข้าถึงง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งยังป้องกันการปลอมแปลงอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ห้างร้านต่าง ๆ ยังหันมาใช้บริการจากผู้พัฒนา NFT มากขึ้นด้วย โดย Lim กล่าวว่า ธุรกิจต่าง ๆ เล็งเห็นถึง “ศักยภาพและประโยชน์” ของ NFT ดังนั้น พวกเขาจึงรวม NFT ไว้ในแผนธุรกิจของพวกเขาด้วย 

นอกจากนี้ Doo Wan Nam ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทด้านการลงทุนคริปโตอย่าง Stablenode เชื่อว่า การที่ชาวเกาหลีใต้หันมานิยมใช้ NFT กันอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Cointelegraph ว่า “ชาวเกาหลีใต้เปิดใจและเข้าใจมากขึ้นในเรื่อง NFT ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง”


ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง

บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล


เผยแพร่เมื่อ : 2022-03-29 18:59:49

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้