ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า สหรัฐฯ เตรียมออก CBDC โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และในอนาคตจะมีการนำ Stablecoin มาใช้ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย หลังไบเดนลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี


Wikimedia Commons | Gage Skidmore, AZ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อกำหนดบทบาทของรัฐบาลในการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมสกุลเงินคริปโต โดยกระทรวงการคลังสหรัฐกำลังเป็นหัวหอกในการศึกษาสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 60-180 วัน และถึงแม้ว่าคำสั่งประธานาธิบดีจะออกมาแล้ว ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐมองเรื่องนี้อย่างไรและนโยบายคริปโตจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร

โดยกระทรวงการคลังสหรัฐได้รับมอบหมายให้จัดทำรายงานเกี่ยวกับอนาคตของเงินและการชำระเงิน ซึ่งประเด็นสำคัญที่คณะรัฐบาลจะต้องไปศึกษาให้ลึกซึ้งคือ การออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Banking Digital Currency: CBDC)

คำถามใหญ่ที่ตามมาคือ สกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลจะทำงานร่วมกับสกุลเงินคริปโตที่มูลค่าผันผวนต่ำอย่าง Stablecoin และสินทรัพย์ดิจิทัลของเอกชนอื่น ๆ อย่างไร และสินทรัพย์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์ของสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลอย่างไร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลและเงินตราด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงกล่าวว่า จะมีการทดลองใช้ CBDC ผ่านระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real-Time Payment) หรืออาจมีวิธีอื่น นอกจากนี้ ระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์อย่าง FedNow ซึ่งคิดค้นโดยธนาคารกลางสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถชำระเงินได้ทันที โดยระบบดังกล่าวจะเริ่มใช้ในปี 2023 และอาจถือเป็นกรณีทดสอบได้

ด้าน Chris Giancarlo อดีตประธานหน่วยงานกำกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ (Commodity Futures Trading Commission: CFTC) กล่าวว่า “คุณเห็นได้เลยว่า Stablecoin พัฒนาอย่างรวดเร็วและแพร่หลายหากมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ การรับรองข้ออ้าง และระบบตรวจสอบ” และเขายังเสริมอีกว่า “อนาคตข้างหน้าอาจจะมีการชำระเงินเพื่อการค้าปลีกผ่าน Stablecoin เชิงพาณิชย์ และการชำระเงินเพื่อทำการค้าส่งผ่านระบบชำระเงิน FedNow”

ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่นประเทศจีน กำลังโปรโมตสกุลเงินดิจิทัลของตน Giancarlo ก็เร่งผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้นำด้าน CBDC บ้าง โดย Giancarlo ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว Yahoo Finance ว่า “ผมไม่คิดว่า สหรัฐฯ เป็นผู้บุกเบิกการนำ CBDC มาใช้ แต่เราก็อยากให้สหรัฐฯ เป็นผู้เริ่มศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นรายแรก” เขาเสริมว่า “กรณีนี้ก็เหมือน 5G ประเทศจีนไม่ได้พัฒนาสกุลเงินหยวนดิจิทัลมาใช้ในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อส่งออกนอกประเทศด้วย”

อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้คือ ความสามารถในการทำงานของ CBDC ของสหรัฐฯ ร่วมกับ CBDC ของนานาชาติ และกรณีดังกล่าวจะมีโครงสร้างเป็นอย่างไร โดยเจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่า มีโครงการเอกชนและโครงการของธนาคารกลางนานาชาติที่จะมาศึกษาเรื่องการใช้ CBDC โอนหากันระหว่างธนาคารและความสามารถของ CBDC ในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ คำสั่งประธานาธิบดียังจะผลักดันให้ฝ่ายบริหารรับหน้าที่ตรวจสอบผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากสหรัฐฯ หมายมั่นปั้นมือที่จะออก CBDC เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายต่างก็จะต้องพึงระลึกเอาไว้ว่า CBDC ของสหรัฐฯ จะต้องกลมกลืนไปกับระบบการเงินโลกอย่างแนบเนียน โดยเฉพาะเมื่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินสำรองที่สำคัญและเป็นตัวกลางในระบบการเงินโลก

ด้าน Lisa Ledbetter ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corporation: FDIC) และกระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า “การนำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสหรัฐฯ มาใช้สามารถพลิกบทบาทของธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ไปโดยสิ้นเชิง” โดยเธอเผยว่า การนำ CBDC ของสหรัฐฯ มาใช้จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ธนาคารกลางต่างประเทศ และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังได้รับมอบหมายให้นำเอกสารวิจัยของทางธนาคารกลางเรื่องข้อดีและข้อเสียของ CBDC มาต่อยอด หากคณะรัฐบาลมีมติเห็นชอบให้สกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลอยู่ในความสนใจของชาติ เจ้าหน้าที่ทางการจึงจะพิจารณาเรื่องการบัญญัติร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้รับมอบหมายให้ทบทวนความจำเป็นในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การพัฒนา CBDC เดินหน้าต่อ

ในเรื่องของความเสี่ยงและวิธีการรับมือนั้น คำสั่งประธานาธิบดีระบุให้สภากำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Oversight Council: FSOC) รับหน้าที่เป็นผู้ศึกษาความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อระบบการเงิน โดยก่อนหน้านี้ คณะทำงาน President’s Working Group on Financial Markets (PWG) ได้มอบหมายให้ FSOC ตรวจสอบความเสี่ยงของ Stablecoin แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ PWG ก็เคยทำรายงานเรื่อง Stablecoin โดยเผยให้เห็นความเสี่ยงของการแห่ขายเหรียญ เสถียรภาพเชิงปฏิบัติของแบบจำลองการออกเหรียญ รวมถึงความเสี่ยงจากการรวมตัวของธุรกิจด้านพาณิชย์และพลังงาน

เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า FSOC สามารถใช้วิธีการที่คล้ายกันเพื่อมองหาความเสี่ยงและแนวทางการรับมือ โดยทันทีที่รายงานเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปว่าจำเป็นต้องมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายแก่สภาคองเกรสหรือไม่

 

ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง

บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล, สกรรจ์ ศิริวงษ์


เผยแพร่เมื่อ : 2022-03-11 20:13:18

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้