Radio Caca ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกหลายแห่ง เพื่อพัฒนา Metaverse สำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้แสดงฝีมือ เรียนรู้ และใช้ชีวิตแบบเสมือนจริง
องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization: DAO) นามว่า Radio Caca (RACA) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเพื่อที่จะสร้าง Metaverse ให้กับนิสิตนักศึกษาไว้ใช้เรียนและเล่น โดยระบบนิเวศบล็อกเชนนี้จะขับเคลื่อนด้วยโทเคนของระบบอย่าง RACA และประกอบไปด้วย United States of Mars (USM) Metaverse, ตลาดซื้อขาย Non-Fungible Token (NFT) และเกมที่เล่นแล้วมีรายได้ (Play-to-Earn: P2E) ซึ่งมีชื่อว่า Metamon
ด้าน Wolfgang Morton หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Head of Investor Relations) ของ RACA กล่าวว่า USM Metaverse ที่มีอายุเพียงสามเดือนเปรียบเสมือนโลกสามมิติที่ผู้ใช้งานสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน สร้างบ้าน เล่นเกม และเข้าสังคมได้
นอกจากนี้ Morton ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายของ USM คือความเข้าถึงง่ายและครอบคลุมทุกคน ซึ่งต่างจาก Metaverse อื่น ๆ อย่าง Decentraland หรือ The Sandbox ซึ่งเข้าถึงได้ยาก โดยเขากล่าวว่า “ภารกิจของเราคือ การพา Metaverse กลับไปหามนุษย์ด้วยการควบคุมราคาที่ดินให้ถูกเข้าไว้ เราอยากมั่นใจว่า USM เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมผ่านการครองกรรมสิทธิ์”
สำหรับการพัฒนา USM Metaverse นั้น ทีมงานของ RACA ได้ร่วมมือกับสโมสรวิชาการด้านบล็อกเชนจากมหาลัยชื่อก้องโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) หรือมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ในขณะเดียวกัน สโมสรบล็อกเชนแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันก็ได้ทวีตข้อความว่า “การร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะให้นักศึกษามีส่วนร่วมและได้แสดงความสามารถของพวกเขา”
ด้านหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Head of Business Development) ของ RACA อย่าง Fuming กล่าวว่า บริษัทจะจัดสรรที่ดินและจัดหานักพัฒนาให้กับสโมสรบล็อกเชนดังกล่าวแบบฟรี ๆ เพื่อไปสร้างวิทยาเขตเสมือนให้แก่นักศึกษาสำหรับใช้นั่งเรียน ร่วมพิธีการ หรือไปพักร้อนแบบเสมือน โดยบริษัทได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า กระแสเงินสดที่ไหลเข้ามาจะสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนการศึกษาด้านบล็อกเชนในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้
ไม่เพียงเท่านั้น ทีมงาน RACA ยังหวังว่า เมื่อการเรียนการสอนออนไลน์กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ USM จะกลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้นักศึกษารู้จักลักษณะทางเทคนิคของบล็อกเชนตั้งแต่เนิ่น ๆ และที่ ๆ พวกเขาจะสามารถ “รวมตัวกันและแบ่งปันความรู้ ทั้งยังมีส่วนทำให้วงการ Web3 เติบโตขึ้นได้ในเวลาเดียวกันด้วย”
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล, สกรรจ์ ศิริวงษ์