ศูนย์การเงินทางเลือกแห่งเคมบริดจ์จับมือกับภาครัฐและภาคเอกชน เปิดโครงการใหม่ โดยมีภารกิจหลักเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับประชาชน
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์การเงินทางเลือกแห่งเคมบริดจ์ (Cambridge Center for Alternative Finance: CCAF) ได้ประกาศเรื่องการจัดตั้งโครงการวิจัยขึ้นมาใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วให้มีเพิ่มมากขึ้น
โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า โครงการสินทรัพย์ดิจิทัลเคมบริดจ์ (Cambridge Digital Assets Programme: CDAP) และยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนทั้งหมด 16 องค์กร ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินของรัฐอย่าง ศูนย์นวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements Innovation Hub: BIS Innovation Hub) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ส่วนบริษัทจากภาคเอกชนนั้นก็มี ธนาคาร Goldman Sachs, บริษัทผู้ให้บริการด้านการชำระเงินยักษ์ใหญ่ Mastercard และ Visa และบริษัทผู้ออกกองทุนรวมดัชนีที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange-Traded Fund: ETF) อย่าง Invesco
ส่วนสถาบันอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัทการเงินเพื่อการพัฒนา British International Investment, ศูนย์กลางทางการเงินนานาชาติดูไบ (Dubai International Financial Center: DIFC), บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก Ernst & Young, บริษัทด้านการจัดการลงทุน Fidelity, กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาแห่งสหราชอาณาจักร (Foreign, Commonwealth and Development Office: FCDO), ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างอเมริกา (Inter-American Development Bank: IDB), กลุ่มตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange Group: LSEG), บริษัทจัดทำดัชนีราคาหลักทรัพย์ Morgan Stanley Capital International (MSCI) และธนาคารโลก (World Bank)
สำหรับภารกิจหลักของโครงการนั้น CDAP มีเป้าหมายเพื่อจุดประเด็นให้เกิดการอภิปรายในที่สาธารณะเกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงของการใช้คริปโตที่เพิ่มมากขึ้น โดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และจะเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ซึ่งได้แก่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของคริปโต โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำอย่าง Stablecoin, สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) และสกุลเงินคริปโต
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ของ CCAF ยังระบุว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการนำชิ้นงานของ CCAF ที่มีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมคริปโตมาต่อยอด ซึ่งรวมถึงดัชนีการใช้ไฟฟ้าของบิตคอยน์ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge Bitcoin Electricity Consumption Index: CBECI) ด้วย โดย CBECI เป็นดัชนีที่มีการนำไปใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์กำลังการขุดบิตคอยน์ที่กระจัดกระจายไปในแต่ละประเทศทั่วโลก
Bryan Zhang กรรมการบริหารของ CCAF กล่าวว่า “โครงการสินทรัพย์ดิจิทัลเคมบริดจ์ที่เรากำลังจะเปิดตัวในวันนี้มีเป้าหมายในการสนองต่อความต้องการให้เกิดความชัดเจนด้วยการมอบความรู้ความเข้าใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งนำมาจากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของหุ้นส่วนจากภาครัฐและเอกชน”
ในทำนองเดียวกัน Michel Rauchs หัวหน้าฝ่ายสินทรัพย์ดิจิทัลของ CCAF กล่าวว่า โครงการ CDAP จะทำให้ผู้ตัดสินใจทำการลงทุนมีข้อมูลการวิเคราะห์ที่เป็นกลางและหลักฐานเชิงประจักษ์ตามที่พวกเขาจำเป็นต้องมีเพื่อที่จะสามารถรู้เท่าทันอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลได้
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล, สกรรจ์ ศิริวงษ์