สมาชิกสภาผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ Lael Brainard เผยว่า สหรัฐฯ อยู่ในช่วงศึกษาและพัฒนาดอลลาร์ดิจิทัล เพื่อเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมการเงินดิจิทัลในอนาคต
สมาชิกสภาผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Board of Governors) นามว่า Lael Brainard ได้ผลักดันให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำด้านการวิจัยและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เนื่องจากอาจมีการพัฒนาสกุลเงินประเภทดังกล่าวในระดับนานาชาติ
ณ ที่ประชุมนโยบายการเงินสหรัฐฯ ซึ่งจัดขึ้นที่มหานครนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Brainard ให้ความเห็นว่า โครงการนำร่องในการทดลองใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัลของธนาคารกลางจีนอาจส่งผลต่ออิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ในด้านการชำระเงินข้ามพรมแดนและระบบการชำระเงินได้ ถึงกระนั้นก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลยังอาจทำให้ประชาชนทั่วโลกพึ่งพาเงินตราดอลลาร์ต่อไปได้
โดย Brainard กล่าวว่า “การพิจารณาว่า การมีหรือไม่มี CBDC ของสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการชำระเงินด้วยสกุลเงินดอลลาร์ทั่วโลกได้อย่างไรในอนาคตที่มีการออกสกุลเงินต่างประเทศที่สำคัญสกุลเงินหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งในรูปแบบ CBDC เป็นเรื่องที่รอบคอบ” ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังกล่าวว่า “สกุลเงิน CBDC ของสหรัฐฯ อาจกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะรับประกันว่า ประชาชนผู้ใช้สกุลเงินดอลลาร์ทั่วโลกยังสามารถพึ่งพาจุดแข็งและความปลอดภัยของดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมและทำธุรกิจในระบบการเงินดิจิทัล”
ถึงแม้ว่าขณะนี้ ประเทศจีนกำลังทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถใช้สกุลเงิน CBDC ได้ในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาว แต่สหรัฐฯ กลับอยู่ในช่วงสำรวจการออกเงินดอลลาร์ดิจิทัล ช่วงที่ Brainard รับตำแหน่งในธนาคารกลาง เธอจึงมักจะเห็นชอบให้สหรัฐฯ ออกสกุลเงิน CBDC เนื่องจากอิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ในการใช้ชำระเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ Brainard ยังได้เท้าความถึงโครงการพัฒนา CBDC ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารกลางบอสตันและแผนการริเริ่มสกุลเงินดิจิทัลของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT Digital Currency Initiative) รวมถึงงานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยศูนย์นวัตกรรมนิวยอร์ก (New York Innovation Center) อันเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้พัฒนาระบบการเงินโลก Brainard กล่าวเสริมว่า “โครงการพัฒนาและศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้มีความสำคัญต่อหน้าที่ของเราในการส่งเสริมระบบชำระเงินที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมถึงเสถียรภาพทางการเงิน และมีความสำคัญต่อสิ่งใดก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ผู้เขียน เขมชาติ เจิมทอง
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล, สกรรจ์ ศิริวงษ์