หลายฝ่ายไม่พอใจข้อเสนอให้ถอด ‘บล็อกเชน’ และ ‘DLT’ จากคำอ้างอิงของสินทรัพย์คริปโต หวั่นทำลายการกระจายศูนย์ของระบบ
ในขณะนี้ ประเทศอังกฤษกำลังมุ่งหน้ากำกับดูแลคริปโต รวมถึงเสนอนโยบายใหม่ ๆ เพื่อให้ตลาดคริปโตอยู่ภายใต้การควบคุม ทว่ามีนโยบายหนึ่งที่ก่อความไม่สบายใจให้กับคนหลายคน ได้แก่ การเสนอให้ถอดคำว่า ‘บล็อกเชน’ และ ‘เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT)’ ออกจากการเป็นคำอ้างอิงของสินทรัพย์คริปโต
ทางกระทรวงการคลังของอังกฤษ (Her Majesty’s Treasury: HM Treasury) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเรื่องคริปโตในหัวข้อ “Cryptoasset promotions: Consultation response” โดยมีเนื้อความว่า แม้ว่าสินทรัพย์คริปโตส่วนใหญ่จะใช้ DLT หรือบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของระบบ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงหากอุตสาหกรรมนี้พัฒนาเติบโต
เนื้อความในรายงานระบุว่า “ปัจจุบันนี้ สินทรัพย์คริปโตส่วนใหญ่ใช้งานเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (DLT) ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมนี้พัฒนา เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงเสนอว่า ให้ถอดคำว่า DLT ออกจากการเป็นคำอ้างอิงของสินทรัพย์คริปโต”
ผู้สนับสนุนคริปโตหลายคนเชื่อว่า การนำคำอ้างอิงอย่างบล็อกเชนและ DLT ออกตามที่มีการเสนอนั้นสามารถส่งผลเสียต่อการกระจายศูนย์ของตลาดคริปโตได้ ยกตัวอย่างเช่น สกุลเงินหยวนดิจิทัลซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ที่ชี้แจงว่าใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทว่าเป็นบล็อกเชนส่วนตัวและมีความรวมศูนย์มาก ทำให้รัฐบาลมีอำนาจควบคุมระบบ หลายคนจึงมองว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังเดินตามรอยจีนจากข้อเสนอนี้
นอกจากประเด็นเรื่องคำอ้างอิงแล้ว รายงานดังกล่าวยังนำเสนอประเด็นเรื่องที่ว่า ควรทำให้ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลแบบพิจารณารายกรณีอีกด้วย และเผยอีกว่า ทางรัฐบาลจะได้สอดส่องดูแลอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วนี้ได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
ผู้เขียน สกรรจ์ ศิริวงษ์
บรรณาธิการ ไอลดา แสงผดุง