Civic Science ระบุว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ลาออกจากงาน เนื่องจากมีกำไรจากสินทรัพย์คริปโต เป็นผู้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ


เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ข้อมูลจากแบบสำรวจของบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเชิงวิเคราะห์ Civic Science เผยว่า 4% ของผู้ร่วมทำแบบสำรวจจำนวน 6,741 ราย ได้ลาออกจากงานในปีที่ผ่านมาเนื่องจากได้รับ “อิสรภาพทางการเงิน” จากการลงทุนในสินทรัพย์คริปโต จากนั้น ทาง Civic Science ได้อ้างอิงตัวเลข 4% ดังกล่าวกับข้อมูลจากผู้ร่วมทำแบบสำรวจจำนวน 1,201 ราย โดยพิจารณาจากรายได้ต่อปีที่ลาออกจากงานเนื่องจากการทำกำไรจากสินทรัพย์คริปโต

จากข้อมูลดังกล่าวระบุว่า กว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ลาออกจากงานเนื่องจาก “กำไรมหาศาล” มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดย 27% จัดอยู่ในผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะที่กว่า 37% มีรายได้ต่อปีอยู่ที่ 25,000 ถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ 15% ของผู้ที่ลาออกจากงานเนื่องจากทำกำไรได้จากคริปโตมีรายได้อยู่ที่ 50,000 ถึง 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี อีก 13% อยู่ระหว่าง 75,000 ถึง 150,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และอีก 8% มีรายได้อยู่ที่ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่าต่อปี

อย่างไรก็ตาม แบบสำรวจของ Civic Science ยังมีความไม่แม่นยำอยู่พอสมควรเนื่องจากข้อมูลดังกล่าวถูกอ้างอิงด้วยข้อมูลจากหลาย ๆ ช่วงเวลาและมีจำนวนผู้ร่วมทำแบบทดสอบที่ไม่เท่ากัน ไม่เพียงเท่านั้น คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” ที่ใช้ในแบบสำรวจนั้นก็ยังไม่ชัดเจนเนื่องจากว่าทาง Civic Science ไม่ได้ให้คำอธิบายหรือข้อมูลว่าผู้ร่วมทำแบบสำรวจมีกำไรจากขายสินทรัพย์คริปโตในระดับไหน

ทาง Civic Science ระบุว่า “ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ได้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์คริปโตอาจสร้างรายได้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาได้เลย ในขณะที่ผู้ครอบครองคริปโตที่มีฐานะร่ำรวยอยู่แล้วจะใช้คริปโตเพื่อการกระจายความเสี่ยงมากกว่าใช้เพื่อเป็นแหล่งที่มาของรายได้”

ทั้งนี้ Mark Cuban นักลงทุนชื่อดังและหนึ่งในผู้สนับสนุนคริปโตได้ทวีตลิงก์ของแบบสำรวจดังกล่าวพร้อมกับข้อความระบุว่า “โอ้โห 4% ของชาวอเมริกันลาออกจากงานเพราะว่าทำกำไรจากสินทรัพย์คริปโต และส่วนใหญ่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย ตอนนี้เรารู้แล้วแหละว่าทำไมคนจำนวนมากถึงลาออกจากงานค่าแรงต่ำ”

ข้อความของ Cuban เป็นการอ้างอิงถึง “ปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ (The great resignation)” ซึ่งหมายถึงปัญหาการขาดแรงงานครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของผู้คนที่ลาออกจากงานเนื่องจากมีโรคระบาดครั้งใหญ่ ค่าแรงที่ต่ำ และสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม


ผู้เขียน พีรทัต ลิ้มพันธ์อุดม

บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล


เผยแพร่เมื่อ : 2021-11-04 21:50:31

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้