บราซิลอนุมัติร่างกฎหมายเพิ่มโทษสำหรับผู้ก่ออาชญากรรมด้านคริปโต หลังประชาชนกว่า 300,000 คนในเมือง ริโอ เด จาเนโร ตกเป็นเหยื่อ
ประกาศจากทางการเมื่อวันพุธที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาระบุว่า คณะกรรมการพิเศษของสภาต่ำ (Special Committee of the Chamber of Deputies) ของประเทศบราซิล ได้อนุมัติร่างกฎหมายซึ่งจะเพิ่มบทลงโทษสำหรับอาชญากรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ (BTC)
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายฉบับหมายเลข 2303/15 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าปรับจาก 1 ใน 3 ของจำนวนเงินที่ฟอกเป็น 2 ใน 3 ไม่เพียงเท่านั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเสนอให้เพิ่มโทษจำคุกขั้นต่ำจาก 3 ปีเป็น 4 ปี และเพิ่มโทษจำคุกสูงสุดจาก 10 ปีเป็น 16 ปี 8 เดือน ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังคงต้องรอการอภิปรายเพิ่มเติมในที่ประชุมรวมของสภา
Aureo Ribeiro รองผู้ว่ารัฐบาลกลาง เน้นย้ำว่าร่างกฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้รัฐบาลปกป้องชาวบราซิลจากแผนการต้มตุ๋นโดยใช้คริปโต เขากล่าวว่าผู้คนกว่า 300,000 คนได้รับผลกระทบจาก “แผนล่อลวงทางการเงินแบบพีระมิดด้วยสกุลเงินดิจิทัล” ในเมือง ริโอ เด จาเนโร
“เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแล ผู้คนจึงไม่รู้ว่าจะต้องหันไปพึ่งใคร ดังนั้น กฎหมายนี้จะทำให้ตลาดเดินหน้าและปรับตัวต่อไปได้ และจะไม่มีผู้แสวงหากำไรจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อหลอกลวงชาวบราซิลนับล้านคนได้อีก” Ribeiro กล่าว
Ribeiro ยังมองด้านอื่น ๆ ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวในแง่ดี โดยระบุว่าร่างกฎหมายนี้จะควบคุมและดูแลสกุลเงินดิจิทัลในวงที่กว้างขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการซื้อขาย การเก็บรักษา การแลกเปลี่ยนเงินตรา (Fiat) และการชำระเงิน นอกจากนี้ Ribeiro ยังกล่าวอีกว่าบิตคอยน์จะได้รับการยอมรับให้ใช้ชำระเงินในประเทศบราซิลเมื่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายแล้ว
ประเทศบราซิลมีการพัฒนาและยอมรับสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่นานมานี้ โดยย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Roberto Campos Neto ประธานธนาคารกลางของบราซิล (Central Bank of Brazil) ได้เรียกร้องให้รัฐเปิดรับตลาดคริปโตมากขึ้นโดยการปรับกฎหมายภายในประเทศใหม่ และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ของบราซิลก็ได้เปิดตัวการซื้อขายกองทุนบิตคอยน์ประเภท Exchange-Traded Fund (ETF) อีกหนึ่งกองทุน หลังจากที่มีการเพิ่มรายชื่อของกองทุน ETF ของสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ไปก่อนหน้านี้ในปีนี้
ผู้เขียน พีรทัต ลิ้มพันธ์อุดม
บรรณาธิการ สิทธิพงศ์ จารุประทีปกุล