ครึ่งหลังปี 2020 บัญชี Twitter ของผู้สื่อข่าวและสำนักข่าวตกเป็นเป้าคำร้องระงับเนื้อหาจากรัฐบาลมากขึ้น คาดเอี่ยวการเมือง



Twitter เห็นกระแสเรียกร้องจากรัฐบาลทั่วโลกในการระงับเนื้อหาที่โพสต์โดยผู้สื่อข่าวและสำนักข่าวเพิ่มมากขึ้นในปี 2020 

รายงานความโปร่งใสของ Twitter ที่เผยแพร่ไปเมื่อวันพุธระบุว่า บัญชีที่ผ่านการรับรองบุคคลสาธารณะ (verified accounts) ของผู้สื่อข่าวและสำนักข่าวกว่า 199 บัญชีได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ลบเนื้อหากว่า 361 ครั้งในครึ่งหลังของปี 2020 โดยเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก 26%

รายงานรายครึ่งปีเรื่องการบังคับใช้ข้อกำหนดนโยบาย รวมถึงคำร้องขอข้อมูลและการระงับข้อมูลที่ได้รับของ Twitter ประกาศออกมาเนื่องจากเห็นว่าบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่น Facebook และ YouTube เผชิญกับการตรวจสอบเนื้อหาที่อยู่บนแพลตฟอร์มจากรัฐบาลทั่วโลก

จากจำนวนการส่งคำร้องทั้งหมด ประเทศอินเดียส่งคำร้องระงับข้อมูลมากที่สุด ตามด้วยตุรกี ปากีสถาน และรัสเซีย นอกจากนี้ อินเดียยังติดอันดับหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลส่งคำร้องขอข้อมูลมากที่สุดในครึ่งหลังของปี 2020 ขึ้นนำสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก

แต่บางประเทศเลือกที่จะแบนแพลตฟอร์มแทน อย่างเช่น คิวบาระงับการเข้าถึง Facebook และแอปพลิเคชันส่งข้อความอย่าง Telegram ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วประเทศ

Twitter ได้รับคำร้องขอข้อมูลจากทั่วโลกกว่า 14,500 ครั้งในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคมถึง 31 ธันวาคม ซึ่งได้ตอบกลับไปเพียง 30% เท่านั้น โดยบางคำร้องอาจมาจากรัฐบาลหรือองค์กรที่ร้องขอข้อมูลตัวตนของบุคคลที่ทวีตภายใต้ชื่อปลอมได้ ไม่เพียงเท่านั้น Twitter ยังได้รับคำสั่งกว่า 38,500 คำสั่งเพื่อระงับเนื้อหาอื่น ๆ ในครึ่งหลังของปี 2020 ซึ่งลดลงมา 9% จากครึ่งปีแรก โดยทางบริษัทปฏิบัติตามคำขอไปเพียงแค่ 29%

Twitter กล่าวว่าเทคโนโลยีของบริษัทนั้นจะสามารถตรวจจับเนื้อหาที่มีความรุนแรงได้มากกว่า 65% ซึ่งทำได้มากกว่าการรายงานจากผู้ใช้ในทวิตเตอร์

นอกจากนี้ ทาง Twitter เองก็พยายามปราบปรามคำพูดสร้างความเกลียดชัง (hate speech) การให้ข้อมูลเท็จ และเนื้อหาที่มีความรุนแรงบนแพลตฟอร์มให้บริการอยู่


ผู้เขียน สกรรจ์ ศิริวงษ์

บรรณาธิการ ไอลดา แสงผดุง



เผยแพร่เมื่อ : 2021-07-15 19:21:49

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้