งบขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเมกาฯ ในไตรมาสแรกขาดดุลพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี
ดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสแรกขาดดุลสูงสุดในรอบ 14 ปีเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นและช่องว่างระหว่างการนำเข้าและส่งออกจะยังคงกว้างอยู่เนื่องจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาวะโรค COVID-19 ระบาด
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐออกมาเผยว่าดุลบัญชีเดินสะพัดอันเป็นค่าที่วัดกระแสการไหลเข้าออกของสินค้า บริการ และการลงทุนของประเทศ ขาดดุลเพิ่มขึ้น 11.8% อยู่ที่ 195.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับว่าเป็นปริมาณการขาดดุลที่มากที่สุดตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2007
ตัวเลขขาดดุลจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วปรับลงเป็น 175.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการรายงานก่อนหน้าที่ 188.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจความเห็นโดยสำนักข่าว Reuters ได้คาดการณ์ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ว่าจะสูงถึง 206.8 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก
ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็น 3.5% ของ GDP ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งขึ้นมาจาก 3.3% ในไตรมาสที่ 4 และสูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2008
ตัวเลขขาดดุลที่สูงขึ้นไม่ได้เป็นปัญหากับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองของโลก
เศรษฐกิจของอเมริกาเติบโตขึ้นในอัตรารายปีที่ 6.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งคาดไว้ว่าในปีนี้จะเติบโตถึง 7% นับว่าเป็นอัตราที่เร็วที่สุดตั้งแต่ปี 1984 และตามด้วยการหดตัว 3.5% ในปีที่แล้วซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดในรอบ 74 ปี
สินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 39.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็น 677 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรก เนื่องจากการฉีดวัคซีนทำให้เศรษฐกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง
สินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 24.5 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็น 408.6 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่แล้ว การเพิ่มของการนำเข้าและส่งออกสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นฟูของวงการใหญ่ ๆ เกือบทั้งหมด ซึ่งมาจากวัสดุและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ
ตัวเลขการบริการที่นำเข้าเพิ่ม 1.8 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็น 120.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากการขนส่งทางทะเล ส่วนการบริการที่ส่งออกนั้นเพิ่มขึ้น 1.1 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็น 175.9 พันล้านดอลลาร์ มาจากการท่องเที่ยวส่วนบุคคล
ผู้เขียน สกรรจ์ ศิริวงษ์
บรรณาธิการ ไอลดา แสงผดุง