“19 มิถุนายน” วันประกาศอิสรภาพแห่งชาติจูนทีนธ์


ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริสร่วมลงนามรับรองให้ “วันที่ 19 มิถุนายน” ของทุกปีเป็น “วันประกาศอิสรภาพแห่งชาติจูนทีนธ์” เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์รอยแผลการค้าทาสของคนผิวดำในอเมริกา ซึ่งการร่างกฎหมายนี้ได้รับคะแนนยอมรับอย่างท่วมท้นในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และวันหยุดแห่งชาตินี้จะมีผลทันทีในปีนี้

ในวันที่ 19 มิถุนายนปี 1865 เป็นวันที่กองทหารของสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมาถึงรัฐเท็กซัสเพื่อแจ้งกลุ่มคนผิวดำที่ยังไม่เข้าถึงข่าวสารให้รับรู้ว่าประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นได้ประกาศอิสรภาพไปแล้วเมื่อสองปีก่อนหน้า นับว่าเป็นวันสุดท้ายในการปลดปล่อยทาสคนดำ ไบเดนจึงประกาศให้วันนี้เป็นวันหยุดเพื่อย้ำเตือนถึงความเจ็บปวดอันยาวนานที่คนดำได้รับและยังคงได้รับอยู่จวบจนวันนี้ กมลา แฮร์ริสยังกล่าวต่ออีกด้วยว่า วันหยุดนี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยยืนยันและอุทิศแก่ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำ

“ชาติที่ยิ่งใหญ่อย่างเราจะไม่มองข้ามช่วงเวลาอันเจ็บปวดที่พวกเขาแบกรับเอาไว้” ไบเดนกล่าวในห้องประชุมสภาต่อหน้าสมาชิกสภา ผู้นำชุมชน และนักกิจกรรมทั้งหลาย ที่รวมถึง Opal Lee สตรีอายุ 94 ผู้รณรงค์เพื่อให้รับรองวันประกาศอิสรภาพจูนทีนธ์นี้เป็นวันหยุดแห่งชาติด้วย

ประธานาธิบดีไบเดนและพรรคเดโมแครตได้รับกระแสความกดดันเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายของฝ่ายรีพับลิกันที่กดทับคนผิวดำในประเทศ ทั้งการตัดสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือการผลักดันนโยบายระงับการสอนประวัติศาสตร์การค้าทาสและการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา

แม้ว่าจะมีฝ่ายรีพับลิกันหลายคนที่สนับสนุนการลงนามรับรองวันหยุดแห่งชาตินี้ แต่ก็มีหลายคนที่คัดค้านโดยให้เหตุผลว่าการประกาศให้วันที่ 19 มิถุนายนเป็น “วันประกาศอิสรภาพจูนทีนธ์” จะเป็นการแบ่งแยกและทำให้ประชาชนสับสนโดยใช่เหตุ

คนดังหลายคนและเจ้าหน้าที่รัฐออกมาสนับสนุนวันหยุดดังกล่าว แต่ก็มีหลายคนออกมาตั้งคำถามว่าวันหยุดนี้จะส่งแรงกระเพื่อมไปถึงปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานนี้ได้จริงหรือไม่ Matthew Delmont อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Dartmouth ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาวแอฟริกัน-อเมริกันและสิทธิมนุษยชน ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “การสร้างวันรำลึกประวัติศาสตร์การค้าทาสของอเมริกาก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็อาจเป็นดาบสองคมได้” 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า วันหยุดนี้อาจกลายเป็นความล้มเหลว หากประชาชนรับรู้เพียงการมีอยู่ของวันนี้ในปฏิทิน แต่ไม่มีแนวปฏิบัติและการรับมืออย่างเป็นรูปธรรมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก อาทิ การใช้ความรุนแรงของตำรวจที่จุดชนวนการประท้วงทั่วสหรัฐอย่างขบวนการ Black Lives Matter การให้สิทธิ์การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการลดช่องว่างความมั่งคั่งระหว่างสีผิว 


ผู้เขียน สกรรจ์ ศิริวงษ์

บรรณาธิการ ไอลดา แสงผดุง


เผยแพร่เมื่อ : 2021-06-18 19:27:52

อดใจรอหน่อยนะ

หน้าที่คุณค้นหา
ยังไม่เปิดให้บริการ ณ ขณะนี้